11 กันยายน 2549

อาคารและสถานที่สำคัญๆ

ภายในบริเวณศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ประกอบไปด้วยอาคารและสถานที่สำคัญๆ สำหรับจัดกิจกรรมและการแสดงทางวัฒนธรรมได้หลากหลายรูปแบบ ดังนี้





หอประชุมใหญ่ (Main Hall)

หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นหอประชุมขนาด 2,000 ที่นั่ง ซึ่งได้รับการออกแบบ และก่อสร้างอย่างดีเยี่ยม ทางด้านคุณภาพของเสียง สำหรับใช้งานทางด้านการแสดง ทุกประเภท ตลอดจนการประชุมระดับนานาชาติ โดยมีรายละเอียดดังนี้


อาคารภายนอกหอประชุมใหญ่
ที่นั่งภายในหอประชุมใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ:
ชั้นล่าง 1,394 ที่นั่ง ชั้นสอง 242 ที่นั่ง ชั้นสาม 364 ที่นั่ง

ที่นั่งภายในหอประชุมใหญ่
เวทีของหอประชุมใหญ่ กว้าง 19.50 เมตร สูง11.00 เมตร ลึก 16.00 เมตร ส่วนเวทีสำหรับการแสดงของไทย กว้าง 14.50 เมตร สูง 9.50 เมตร ลึก 14.50 เมตร เวทีหน้ามีความลึก 7.50 เมตร (รวมทั้งหลุมวงดุริยางค์ ซึ่งยกระดับเป็นเวทีได้)

เมื่อจัดเวทีสำหรับแสดงดนตรีโดยติดแผงสะท้อนเสียง เวทีจะมีความลึก 18.00 เมตร
บนเวทีใหญ่มีเวทียก 2 ชุด ขนาด 12 เมตร x 3.6 เมตร และ 2.7 เมตร x 1.8 เมตร ตามลำดับ

เวทีหอประชุมใหญ่พร้อมม่านพระอันวิจิตรและทรงคุณค่า โดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต
ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2543

ฉากเวทีประกอบแผงสะท้อนเสียง เพื่อการแสดงดนตรี

อุปกรณ์ประกอบการแสดงติดตั้งไว้อย่างครบครัน และทันสมัย เช่น ระบบม่าน และฉากทุกประเภทตามมาตรฐานสากล ระบบแสดงซึ่งควบคุมด้วยไมโครคอมพิวเตอร์ ระบบขยายเสียงที่สมบูรณ์แบบ สามารถถ่ายทอดการแปลภาษาของล่ามไปยังที่นั่งคนดูได้ถึง 4 ภาษาในขณะเดียวกัน

นอกจากนั้นยังมีเครื่องฉายภาพยนตร์ทั้งระบบ 16 มม. และ 35 มม.

ส่วนบริการอื่น ๆ ประกอบด้วย ห้องที่ประทับ ห้องโถง และห้องรับรองระดับต่าง ๆ ห้องอาหารสำหรับบริการประชาชนทั่วไป ด้านหลังเวทีมีห้องฝึกซ้อม ห้องแต่งตัวขนาดต่าง ๆ รวม 7 ห้อง ห้องสำหรับไหว้ครู และห้องพักนักแสดง

ห้องที่ประทับ
ห้องโถงชั้นล่าง

ห้องโถงชั้นล่าง มุมมองจากด้านบน

บริเวณที่นั่งรอชมการแสดงที่ตกแต่งด้วยหัวโขนจากเรื่องรามเกียรติ์

ห้องฝึกซ้อมการแสดงพร้อมราวจับสำหรับการเต้นบัลเล่ต์และกระจกบานใหญ่

ห้องแต่งตัวนักแสดงพร้อมอุปกรณ์ครบครัน

บริเวณจัดเลี้ยงรับรอง ชั้นสอง ที่สามารรองรับแขกวีไอพีได้ประมาณ 30-50 คน
หอประชุมเล็ก (Small Hall)
เป็นหอประชุมอเนกประสงค์ ขนาด 2,000 ตารางเมตร สามารถปรับแต่งใช้งานได้หลายลักษณะ ตั้งแต่จัดการแสดง จัดการประชุมประเภทต่าง ๆ จัดนิทรรศการ และการเลี้ยงรับรอง เป็นต้น

หอประชุมเล็ก มุมมองจากสวนญี่ปุ่น
ที่นั่งภายในหอประชุมเล็ก จัดเป็นระบบอัฒจันทร์ชั่วคราว 240 ที่นั่ง ซึ่งสามารถพับเก็บได้ นอกจากนั้นยังสามารถตั้งเก้าอี้เพิ่มเติม หากตั้งเต็มพื้นที่ หอประชุมนี้จุได้ทั้งสิ้น 500 ที่นั่ง

ที่นั่งภายในหอประชุมเล็ก

เวทีมีกรอบขนาดความกว้าง 12 เมตร สูง 6 เมตร ลึก 6 เมตร

เวทีหอประชุมเล็ก

อุปกรณ์การแสดง มีครบถ้วนเช่นเดียวกับหอประชุมใหญ่ และมีระบบปรับแต่งปริมาตรของห้อง และแผงสะท้อนเสียงที่สามารถปรับแต่งให้สอดคล้องกับปริมาตรของห้อง และการใช้สอย

พื้นที่เอนกประสงค์ขณะที่นั่งต่างระดับถูกพับเก็บด้วยระบบไฟฟ้าอัตโนมัติ และฝ้าเพดานที่สามารถเลื่อนปิดเปิด เพื่อควบคุมคุณภาพเสียง

ห้องควบคุมแสงและเสียง
ส่วนบริการ ประกอบไปด้วยห้องโถง ร้านค้า ห้องเตรียมงานจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ ห้องแต่งตัวนักแสดงขนาดต่าง ๆ รวม 7 ห้อง ซึ่งสามารถใช้งานร่วมกับโรงละครกลางแจ้งได้

ห้องโถงหอประชุมเล็ก

โรงละครกลางแจ้ง (Amphitheatre)


ตั้งอยู่ด้านหลังของหอประชุมเล็ก ใช้สำหรับจัดการแสดงกลางแจ้งประเภทต่าง ๆ เช่น การแสดงดนตรี การแสดงการละเล่นพื้นเมือง และอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมการแสดงที่ต้องการบรรยากาศแบบโล่งแจ้ง สบายๆ และเป็นกันเอง มีที่นั่งรูปอัฒจันทน์สำหรับผู้ชมจำนวน 1,000 ที่นั่ง โดยมีห้องแต่งตัว และห้องพักผ่อนสำหรับนักแสดงอยู่ในส่วนหลัง

เวทีโรงละครกลางแจ้ง

ที่นั่งรูปอัฒจันทน์สำหรับผู้ชม 1,000 คน

ลานกลางแจ้ง หรือลานเอนกประสงค์(Multi-purposed Plaza)

อยู่ระหว่างหอประชุมเล็กและหอประชุมใหญ่ ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมได้อีกส่วนหนึ่ง เพราะมีลักษณะเป็นลานยกสูงและลานระดับต่ำ ลักษณะภูมิทัศน์ที่แวดล้อมไปด้วยไม้ไทยนานาพันธุ์ เหมาะสำหรับงานที่ต้องการบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบายยามเย็น

ลานกลางแจ้งท่ามกลางแมกไม้อันร่มรื่น

ห้องนิทรรศการหมุนเวียน (Changing Exhibition Hall)

ห้องนิทรรศการหมุนเวียนตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 ของอาคารนิทรรศการและบริการทางการศึกษา เป็นห้องสำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียนทางด้านศิลปวัฒนธรรม ตามหัวข้อที่กำหนดและจัดนิทรรศการจากผู้ที่ให้ความสนใจมาร่วมกันจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ประชาชนที่ไป นิสิตนักศึกษา หรือนักเรียน

ทางเข้าห้องนิทรรศการหมุนเวียน

การจัดแสดงศิลปะของศิลปินแห่งชาติ

พื้นที่ใช้งานภายในห้องนิทรรศการหมุนเวียนที่สามารถออกแบบการใช้สอยได้หลากหลาย

ห้องนิทรรศการถาวร(Permanent Exhibition Hall)

ห้องนิทรรศการถาวรตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของอาคารนิทรรศการและบริการทางการศึกษา เป็นห้องสำหรับจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยวัฒนาการชนชาติไทย มีเรื่องราวสำคัญๆ คือ ความเป็นมาของชนชาติไทย ภูมิจักรวาล ภาษาและวรรณคดี การดำรงชีวิตของคนไทยและวัฒนธรรมข้าว ประเทศไทยกับโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของชนชาติไทย

นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันจันทร์ ถึงศุกร์ ระหว่างเวลา 09.30-16.30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ที่ต้องการเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อล่วงหน้าที่ โทรศัพท์: 0-2247-0028 ต่อ 4223,4224โทรสาร: 0-2645-2358

ห้องแสดงประวัติศาสตร์ไทยสมัยต่างๆ

บริเวณด้านหน้าของห้องนิทรรศการมีจอวิดีทัศน์แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีไทย

ห้องแสดงเรื่องราวประเทศไทยกับวิถีโลก

ข้าวกับวิถีชีวิตไทย

ห้องสมุดวัฒนธรรม (The Cultural Library)

ห้องสมุดวัฒนธรรมตั้งอยู่ที่ ชั้น 3 อาคารนิทรรศการและบริการทางการศึกษา เป็นห้องสมุดที่เน้นข่าวสารและความรู้ทางด้านวัฒนธรรมโดยเฉพาะ มีบริการหนังสือ วารสาร และนิตยสารทางศิลปวัฒนธรรม หนังสือพิมพ์และข่าวสารรายวัน ซีดี วีซีดี เทปบันทึกภาพการแสดง กวีนิพนธ์ ดนตรี และเทปโทรทัศน์ ทั้งด้านสารคดีและการบันเทิง

เปิดให้บริการสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. (ตอนเที่ยงปิดบริการ) และหยุดทำการใน วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

มีหนังสือและเอกสารทางศิลปวัฒนธรรมมากมายหลากหลายไว้ให้บริการ

มุมนิตยสารและวารสาร

ศาลาไทยและศาลาญี่ปุ่น (Thai and the Japanese Pavilions)

ศาลาไทยและศาลาญี่ปุ่น ได้รับการพิจารณาให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ให้ทุนสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยถือเอาศาลาไทยเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปะสถาปัตยกรรมไทยสมบูรณ์แบบตามอุดมคติ เช่นเดียวกับศาลาญี่ปุ่นที่มีการออกแบบศาลาและจัดวางองค์ประกอบตามแนวประเพณีและวัฒนธรรมประจำชาติของญี่ปุ่น

บริเวณหน้าศาลาไทย เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สามารถจัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม เนื่องจากมีลักษณะเป็นลานกว้าง โดยมีฉากหลังเป็นศาลาไทยที่มีความงดงามวิจิตรบรรจง ที่แวดล้อมไปด้วยพรรณไม้อันร่มรื่น เช่นเดียวกับศาลาญี่ปุ่นที่สามารถจัดกิจกรรมเล็กๆ ท่ามกลางสวนญี่ปุ่นที่งดงามและแปลกตา

ศาลาไทยสัญลักษณ์ทางศิลปะสถาปัตยกรรมไทยสมบูรณ์แบบตามอุดมคติ

ความวิจิตรงดงามของศาลาไทยยามค่ำคืน

ลานหน้าศาลาไทย(มองจากด้านข้าง)

ศาลาญี่ปุ่นที่มีการออกแบบและจัดองค์ประกอบตามแนวประเพณีและวัฒนธรรมญี่ปุ่น

หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่และการเช่าใช้สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มลูกค้าสัมพันธ์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โทร 0 2247 0028 ต่อ 4105-4109 โทรสาร 0 2245 7747

1 Comments:

At 1:04 หลังเที่ยง, Anonymous ไม่ระบุชื่อ said...

สถานที่น่าสนใจมากค่ะ ไม่คิดว่ากรุงเทพฯจะมีสถานที่สวยงามอย่างนี้นะค่ะ
ชอบมากค่ะ เคยผ่านไปที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยค่ะ ไม่ยังไม่เคยเข้าไป บอกได้คำเดียวว่าต้องหาโอกาสไปบ้างแล้วนะค่ะ
แต่อยากให้ลงรูปที่สวยกว่านี้นะคะจะดีมากเลยค่ะ

 

แสดงความคิดเห็น

<< Home