11 กันยายน 2549

ประวัติศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในอดีต
คณะรัฐมนตรีได้มีมติในคราวประชุม เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2526 ให้กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยขึ้น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในรูปของการให้เปล่า เพื่อการก่อสร้างอาคาร และการจัดหาอุปกรณ์ คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 6.38 ร้อยล้านบาท รัฐบาลไทยรับผิดชอบในการจัดเตรียมที่ดินสำหรับการก่อสร้าง จัดสาธารณูปโภค และงบประมาณในการดำเนินการต่อไป


ป้ายอนุสรณ์ประกาศการให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยของรัฐบาลญี่ปุ่น


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2528 และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนามหน่วยงานแห่งใหม่นี้ว่า "ศูนย์วัฒนะรรมแห่งประเทศไทย" และชื่อภาษาอังกฤษว่า "THAILAND CULTURAL CENTRE"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2530

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อเริ่มแรกก่อตั้งเป็นหน่วยงาน ในสังกัดกรมศิลปากร ต่อมาในปีพุทธศักราช 2532 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ มาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมมีบทบาทหน้าที่สำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรม คือเป็นสูนย์กลางในการให้บริการทางการศึกษา ส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยสาขาต่าง ๆ แก่เยาวชนและประชาชนชาวไทย ซึ่งจะมีผลให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทย เกิดความรักหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และช่วยกันรักษาไว้เป็นศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิของชาติสืบไป นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันในบรรดาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นอกจากจะมีบทบาทหน้าที่อันสำคัญในการเป็นแหล่งกลาง ของการจัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นสถานที่สำหรับให้เช่าหรือบริการ เพื่อการแสดงออกซึ่งกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมที่เยาวชน และประชาชนสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งรวมถึงการจัดประชุมสัมมนาระดับชาติ และนานาชาติด้วย

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตั้งอยุ่บนถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นย่านธุรกิจการค้าแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วยอาคารสำคัญ ๆ คือ หอประชุมใหญ่ หอประชุมเล็ก อาคารศูนย์บิรการช่าวสารทางวัฒนธรรม และอาคารรายรอบอื่น ๆ ซึ่งในแต่ละอาคารเพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์อันทันสมัย สามารถสนองงานด้านศิลปวัฒนธรรมได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในหลายลักษณะ ได้แก่ หอประชุมใหญ่ หอประชุมเล็ก โรงละครกลางแจ้ง ลานกลางแจ้ง ห้องนิทรรศการถาวร ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ห้องสมุดวัฒนธรรม ศาลาไทย และศาลาญี่ปุ่น

2 Comments:

At 9:13 หลังเที่ยง, Anonymous ไม่ระบุชื่อ said...

ข้อมูลของบล็อคดีมากเลยค่ะ มีสาระมากๆ

 
At 4:19 หลังเที่ยง, Anonymous ไม่ระบุชื่อ said...

ข้อมูลยอดเยี่ยม แต่อย่าลืมอัพเดทโปรแกรมประจำเดือนให้เป็นปัจจุบันด้วยนะ ขอบคุณค่ะ

 

แสดงความคิดเห็น

<< Home